มรดกพืชพรรณธัญญาหารของชาวสุวรรณภูมิ
Suvarnabhumi Heritage Crops
นิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์นานาชาติ ครั้งที่ 2
สานพฤกษพรรณผ่านงานพฤกษศิลป์ ครั้งที่ 7
6-25 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
หัวข้อนิทรรศการ: มรดกพืชพรรณธัญญาหารของชาวสุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi Heritage Crops)
“สุวรรณภูมิ” หรือ ดินแดนแห่งทองคำ ตามที่พ่อค้าโลกโบราณเรียกขาน เป็นดินแดนแห่งทรัพยากรธรรมชาติเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนอันอุดมสมบูรณ์ ครอบคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน และได้รับการขนานนามว่าเป็น “ครัวของโลก” ประเทศไทยตั้งอยู่ ณ ใจกลางของดินแดนแห่งนี้ มีประวัติศาสตร์ทางการเกษตรยาวนานหลายศตวรรษ นิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์นานาชาติ ครั้งที่ 2: มรดกพืชพรรณธัญญาหารของชาวสุวรรณภูมิ จะนำเสนอประวัติศาสตร์นี้ผ่านภาพวาดพฤกษศาสตร์ของพืชปลูกโบราณ ตั้งแต่พืชอาหารหลักอย่างข้าว อ้อย และหัวมันต่าง ๆ ผลไม้หลากหลาย อาทิ ทุเรียน มะพร้าว มังคุด และกล้วย รวมไปถึงสมุนไพรและเครื่องเทศนานาชนิด นิทรรศการจะเน้นย้ำถึงความหลากหลายทางพฤกษศาสตร์ของภูมิภาคสุวรรณภูมิ ซึ่งเกษตรกรคัดเลือกและส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นในพื้นที่นี้มานานเกินกว่าครึ่งศตวรรษ นอกจากพืชอาหารแล้ว ยังรวมพืชอื่นที่นำมาใช้ประโยชน์เป็นสีย้อม พลังงาน ทอผ้า วัสดุก่อสร้างด้วย เช่น คราม ไผ่ กัญชง และไม้สัก
นิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์นานาชาติ Botanical Art Worldwide จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2561 โดยการริเริ่มของ American Society for Botanical Artists (ASBA) ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 25 ประเทศที่เข้าร่วมจัดนิทรรศการ และได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปเป็นอย่างดี
เพื่อสนองพระราชดำริ ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ร่วมกับเครือข่ายวิทย์สานศิลป์ กำหนดจัดนิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์นานาชาติ ครั้งที่ 2 ในประเทศไทย ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2568 พร้อมกับนิทรรศการใน 30 ประเทศทั่วโลก เพื่อร่วมกันแสดงพลังในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชปลูกที่เป็นมรดกของท้องถิ่น โดยใช้หัวข้อของงานที่สอดคล้องกับนานาชาติ ในชื่อว่า “มรดกพืชพรรณธัญญาหารของชาวสุวรรณภูมิ” นอกจากภาพวาดพฤกษศาสตร์ที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อจัดแสดง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครแล้ว คณะผู้จัดงานยังจะได้จัดทำสูจิบัตรรวบรวมภาพวาด และข้อมูลพืชทั้งหมด รวมทั้งภาพวาดส่วนหนึ่งจะปรากฏในนิทรรศการออนไลน์ทั่วโลกอีกด้วย
สถานที่จัดนิทรรศการ: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC- Bangkok Art and Culture Centre) และออนไลน์บางส่วน
กำหนดส่งภาพเข้าร่วมคัดเลือกเพื่อจัดแสดง: 5 มกราคม 2568
แจ้งผลภาพที่ผ่านการคัดเลือกทางเว็บไซต์: 20 มกราคม 2568
วันสุดท้ายในการยืนยันการเข้าร่วมแสดงภาพและชำระเงินค่าสมัคร: 31 มกราคม 2568
กำหนดการจัดงาน: พฤษภาคม พ.ศ. 2568 (รอกำหนดการ)
⤅ มีสัญชาติไทย หรือชาวต่างชาติ (สามารถส่งภาพได้เพียงประเทศเดียว) ทั้งนี้
⤅ ศิลปินที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทย : ต้องส่งผลงานภาพต้นฉบับเท่านั้น
⤅ ศิลปินจากต่างประเทศ : ส่งผลงานเป็นภาพดิจิตอลเพื่อเลี่ยงความยุ่งยากในการขนส่ง
• ศิลปินที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทย : 2,000 บาท ต่อผลงาน 1 ภาพ
• ศิลปินจากต่างประเทศ : 3,500 บาท ต่อผลงาน 1 ภาพ ซึ่งรวมค่าจัดพิมพ์และใส่กรอบเพื่อแสดง แต่ไม่รวมค่าธรรมเนียมธนาคาร และอัตราแลกเปลี่ยน
⤅ เป็นภาพวาดพฤกษศาสตร์ (botanical illustration) 2 มิติ
⤅ เป็นภาพวาดส่วนของพืชที่มีการปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือแผ่นดิน สุวรรณภูมิในอดีต
⤅ เป็นภาพที่ไม่มีพื้นหลัง (ควรเป็นพื้นหลังขาว)
⤅ ไม่รับพิจารณาภาพวาดที่มีสัตว์อยู่ในองค์ประกอบภาพ
⤅ ไม่ใช่หรือมีส่วนหนึ่งส่วนใดของผลงานที่เป็นภาพถ่าย หรือสร้างจากคอมพิวเตอร์
⤅ ไม่เคยจัดแสดงในนิทรรศการที่ใดมาก่อน (ห้ามมิให้จัดแสดงทั้งแบบ on-site และ online ที่อื่นใดก่อนวันเปิดนิทรรศการ)
ห้ามเปิดเผยส่วนหนึ่งส่วนใดของภาพในสื่อสังคมออนไลน์ หรือสื่อสารมวลชนใดๆ ก่อนวันประกาศผลการคัดเลือกครั้งสุดท้าย
คำแนะนำทั่วไป: ภาพวาดพฤกษศาสตร์มีสไตล์แตกต่างจากภาพวาดธรรมชาติอื่น ควรมีตัวอย่างของจริงเป็นต้นแบบในการวาด ไม่วาดภาชนะและพื้นหลัง และปัจจุบันนิยมวางองค์ประกอบของภาพให้เต็มหน้ากระดาษ (พื้นขาวน้อยกว่าส่วนที่วาด)
⤅ ผลงานแนวตั้งหรือแนวนอน สี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือสี่เหลี่ยมจัตุรัส
⤅ ใช้กระดาษขนาด ถึง A4 คือ มีขนาดโดยประมาณไม่เกิน 60 x 84 ซม. และ ไม่ต่ำกว่า 21 x 29.7 ซม. (หากเป็นภาพสี่เหลี่ยมจตุรัส โดยประมาณไม่เกิน 60 x 60 ซม. และไม่ต่ำกว่า 29.7 x 29.7 ซม.)
ขนาดภาพเขียนด้วยรูปแบบ ความกว้าง x ความยาว เช่น ภาพขนาด A4 แนวตั้ง มีขนาด 21 x 29.7 ซม. และภาพ A4 แนวนอน มีขนาด 29.7 x 21 ซม.
สำหรับหัวข้อในปีนี้ สอดคล้องกันทั่วโลกในการอนุรักษ์พืชพันธุ์พื้นเมือง (native plants) ซึ่งประเทศไทยกำหนดให้เป็นภาพวาดพืชที่มีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือปลูกในท้องถิ่นมาแล้วเป็นเวลานาน (มากกว่า 50 ปี) ผ่านการคัดเลือกและส่งทอดจากรุ่นสู่รุ่น และนำมาใช้ประโยชน์ในแง่ต่างๆ ควรเป็นพืชที่มีคุณค่าควรอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมให้คงอยู่เป็นทรัพยากรของแผ่นดิน ทั้งนี้ในภาพควรปรากฏส่วนต่าง ๆ ที่นำมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งใบ ดอก ผล
พรรณพืชในนิทรรศการนี้ เน้นพืชปลูก (crops) ที่มีคุณสมบัติตามข้อใดข้อหนึ่งหรือมากกว่า 1 ข้อ ต่อไปนี้
1. มีการเพาะปลูกมานานกว่า 50 ปี ในประเทศไทยหรือพื้นที่อื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะปัจจัยสี่ ได้แก่ เป็นพืชอาหาร พืชสมุนไพร พืชเส้นใยผลิตเครื่องนุ่งห่ม และพืชที่ใช้ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ทั้งยังรวมถึงพืชใช้งานเบ็ดเตล็ด เช่น สานตะกร้า ทำไม้กวาด ฟืน ด้ามเครื่องมือ สีย้อม เครื่องหอม และอื่นๆ เช่น ข้าว กระชาย มะพร้าว กัญชง สัก พะยูง คราม
2. พืชปลูกที่พัฒนาพันธุ์โดยวิธีดั้งเดิม เช่น การคัดเลือก การทำลูกผสม และการขยายพันธุ์รวมถึงพืชป่าและพืชโบราณที่มีการนำกลับมาเพาะปลูกใหม่ เช่น ข้าวสังข์หยด มะม่วงอกร่อง ส้มเขียวหวานบางมด กล้วยนาก
3. พืชมรดก (heritage crops) พืชผลที่มีประวัติการปลูกในครัวเรือน หรือในสวนสมรม เพื่อใช้งานมาไม่น้อยกว่า 50 ปี ไม่นิยมปลูกเชิงเดี่ยวแบบอุตสาหกรรม (อาจเป็นเพราะให้ผลผลิตน้อย) เช่น จำปาดะ ทุเรียนย่ำมะหวาด ชะมวง
4. เครือญาติพืชป่า (crop wild relatives) คือ พืชพื้นเมืองที่มีพันธุกรรมใกล้เคียงกับพืชปลูก สามารถนำมาผสมกับพืชปลูกเพื่อพัฒนาคุณสมบัติใหม่ ๆ เช่น ข้าวป่า ละไม มะมุด ทุเรียนนก
5. พืชโบราณ (ancient crops) พืชที่มีการเพาะปลูกมานับร้อยปีในรูปแบบเดิม ๆ เช่น เผือก มะม่วงแก้ว มะม่วงเบา
⤅ รายชื่อพืชมรดก พืชเครือญาติ พืชปลูกโบราณในดินแดนสุวรรณภูมิ (ตัวอย่างบางส่วน - บางชนิดเสนอโดยศิลปิน)
⤅ คำแนะนำในการเลือกพืชตามหัวข้อนานาชาติ (บรรยายเป็นภาษาอังกฤษ โดย ASBA)
⤅ ตรวจสอบชื่อพืช (เฉพาะที่มีชื่อไทย) เช่น
Thai Plant Names
⤅ ตรวจสอบชื่อพืช และแผนที่การกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ เช่น
https://powo.science.kew.org/
⤅ ศึกษาลักษณะทางพฤกษศาสตร์และสรรพคุณของพืช เช่น
https://www.dnp.go.th/botany/Herbarium/Archives/publications/Saranukrom_download.html
http://rspg.or.th/plants_data/index.htm
https://medplant.mahidol.ac.th/pharm/search.asp
● โปรดดูรายละเอียดของกติกาทั้งหมดก่อนเริ่มการวาดภาพ สมัคร และส่งผลงานเพื่อเข้าร่วมคัดเลือก
● เตรียมข้อมูลพืชเพื่อส่งพร้อมกับภาพ ได้แก่ ชื่อไทย ชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ถิ่นกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ (natural distribution area) ส่วนของพืชที่นำมาใช้ประโยชน์ สรรพคุณองค์ประกอบเคมี (ถ้ามี) ควรมีข้อมูลหรือหลักฐานการปลูกและใช้ประโยชน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานกว่า 50 ปี เช่น บันทึก จดหมายเหตุ ตำราอาหาร บทกลอนในวรรณคดี และอื่น ๆ
● ศิลปิน 1 ท่านส่งผลงานได้ไม่เกินท่านละ 5 ภาพ และร่วมจัดแสดงได้ไม่เกินท่านละ 3 ภาพ หรือตามดุลยพินิจของคณะกรรมการ
● สมัครออนไลน์ (1 พฤศจิกายน 2567 – 5 มกราคม 2568) โดยกรอกข้อมูลให้ครบถ้วนที่เว็บไซต์ BAWW2025 ของภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
● เป็นไฟล์ดิจิตอลสกุล jpg อาจถ่ายด้วยโทรศัพท์มือถือ แต่ต้องคมชัด และขยายดูรายละเอียดได้อย่างน้อยเท่าขนาดภาพจริง ภาพสว่างเท่ากันทั้งภาพ สีไม่เพี้ยน
● หากภาพที่ส่งเข้าคัดเลือกไม่คมชัด มืด มีเงา มีคุณภาพไม่ดีพอ ไม่สามารถขยายเพื่อดูรายละเอียด คณะกรรมการขอสงวนสิทธิ์ตัดภาพออกจากการพิจารณา
● ตั้งชื่อไฟล์ซึ่งมีนามสกุลศิลปินเป็นภาษาอังกฤษ และชื่อสกุลพืช ดังนี้ BAWW2025–Chakkaphak-Nelumbo หากส่งมากกว่า 1 ภาพที่เป็นพืชสกุลเดียวกัน โปรดเติมหมายเลข เช่น รูปที่ 1: BAWW2025–Chakkaphak-Nelumbo1 และรูปที่ 2: BAWW2025–Chakkaphak-Nelumbo2
● เป็นไฟล์ดิจิตอลสกุล jpg ที่มีความละเอียดของไฟล์ภาพไม่ต่ำกว่า 300 dpi ความกว้างxความยาว ของไฟล์ไม่ต่ำกว่าขนาดภาพจริง
● หากภาพมีขนาดใหญ่ ควรส่งไฟล์ภาพเข้าไปใน cloud storage เช่น Dropbox หรือ Google Drive ก่อน แล้วส่งลิงก์เข้าถึงไฟล์แนบมาในอีเมล **เปิดแชร์ ทุกคนที่มีลิงก์เข้าดูได้ (Anyone with the link can view)**
● ศิลปินที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทย สามารถนำผลงานมาถ่ายภาพเป็นไฟล์คุณภาพดีสำหรับการตีพิมพ์ภายหลังได้รับการคัดเลือก ได้ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 (อาจมีการปรับเปลี่ยน) ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท https://maps.app.goo.gl/MQs53vZLL2m3cqo98 (มีค่าใช้จ่าย)
●ศิลปินอนุญาตให้ผู้จัดนำไฟล์ภาพที่ผ่านการคัดเลือกไปร่วมจัดแสดงออนไลน์ระดับนานาชาติ จัดทำสูจิบัตร และใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์
ในกรณีที่รูปภาพได้รับการคัดเลือกให้ร่วมแสดง ผู้ส่งภาพต้องยืนยันการเข้าร่วมแสดงภาพ โดยโอนเงินชำระค่าสมัครผ่าน ธนาคารไทยพาณิชย์ (รอยืนยันเลขที่บัญชี) และส่งภาพถ่ายสำเนาการโอนเงินที่ sciartnetwork@gmail.com โดยส่งทุกภาพมาในอีเมลเดียว ตั้งหัวข้อจดหมาย ดังนี้ BAT2025-นามสกุลศิลปินเป็นภาษาอังกฤษ เช่น BAT2025-Chakkaphak ภายในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2568 หากพ้นกำหนดนี้ ถือว่าสละสิทธิ์ (ในอีเมลโปรดระบุชื่อเต็มของศิลปินเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาไทย)
● กรอบด้านในเป็นกรอบกระดาษที่มีความกว้างเหมาะสม
● กรอบไม้แบนเรียบแบบใดก็ได้ไม่จำกัด
● ใส่กระจกตัดแสง หรือไม่ตัดแสง
● กรอบต้องมีสายสลิงด้านหลังเพื่อแขวน
คณะกรรมการจัดงานขอสงวนสิทธิ์ในการนำไฟล์ภาพที่ผ่านการคัดเลือกไปใช้ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อการศึกษา และ/หรือ จัดแสดง ก่อน ระหว่าง หรือหลังการจัดงาน เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานนิทรรศการในครั้งนี้เท่านั้น อนึ่งฯ จะมีการคัดเลือกไฟล์ภาพจำนวน 40 ภาพเข้าร่วมจัดแสดงออนไลน์ในระดับนานาชาติ ซึ่งคณะกรรมการจะแจ้งผลการคัดเลือกในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ทั้งนี้คณะกรรมการอาจพิจารณาจัดแสดงภาพทางออนไลน์เท่านั้นหากมีสถานการณ์สุดวิสัย แต่จะได้มีการแจ้งให้เจ้าของภาพทราบก่อนการชำระเงินค่าสมัคร
เจ้าของภาพต้องเป็นผู้นำภาพมาเพื่อติดตั้งและมารับภาพคืนในวันเวลาที่กำหนด ทั้งนี้คณะกรรมการจัดงานขอสงวนสิทธิ์ในการปฏิเสธการแขวนภาพแสดงในงาน หากพบว่าคุณภาพของภาพวาดมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากไฟล์ภาพที่ส่งมาให้พิจารณาในรอบคัดเลือก หรือคุณภาพการใส่กรอบ ไม่เหมาะสมตรงตามที่ระบุไว้
Thailand BAWW2025 Exhibition (PowerPoint Slide in English)
ชมแนวทางการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์:
นิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์ระดับนานาชาติ
https://www.botanicalartandartists.com/exhibitions.html
สารคดี : 07 ภาพวาดวิทยาศาสตร์ ทรูปลูกปัญญา ทรูวิชั่นส์ 37
https://www.youtube.com/watch?v=5enjTGqeyjE&t=59s
ผู้หญิงถึงผู้หญิง | ผู้หญิงนักวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ | 08-01-58
https://www.youtube.com/watch?v=_xh-g5XHVtE
และ Youtube หรือ Google เกี่ยวกับ botanical arts เช่น
https://www.botanicalartandartists.com/news/how-to-become-a-botanical-illustrator
https://www.youtube.com/watch?v=niYq8QKdFDk