งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของปีและของประเทศ จัดขึ้นเพื่อร่วมเทิดพระเกียรติพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย และพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทยและพระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย โดยมีการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมจากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ แสดงถึงศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการอุดมศึกษา ที่นำสมัย สามารถสร้างความตื่นเต้น สร้างแรงบันดาลใจ และความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แก่สังคมไทย โดยเป็นโอกาสที่เยาวชนและประชาชนทั่วไปจะได้เข้าถึงข้อมูล องค์ความรู้ ประสบการณ์การลงมือทำ และมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ในรูปแบบที่แปลกใหม่ สนุกสนาน ซึ่งจะก่อให้เกิดทัศนคติเชิงบวก กระตุ้นการคิดและการตั้งคำถาม และนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long learning) ต่อไป

รูปแบบของกิจกรรมในงานเป็นเทศกาลทางวิทยาศาสตร์ (science festival) ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ในรูปแบบทันสมัยที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วม (Interactive exhibition) โดยเน้นหัวข้อที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะของกำลังคนของประเทศในศตวรรษ ที่ ๒๑ เพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ ยังนำเสนอประเด็นปัจจุบันของโลก เช่น เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ความหลากหลายทางชีวภาพ วิทยาศาสตร์สุขภาพ สุขภาพพืชและประเด็นที่เป็นที่สนใจของโลก อื่นๆ โดยเป็นการรวมพลังของหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อจัดแสดงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ผลงานการวิจัย เทคโนโลยีนวัตกรรม และด้านการศึกษาชั้นสูง การประกวดแข่งขันทางวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนและประชาชน กิจกรรมการเรียนรู้แบบ Hands-on ในแนวทางสะเต็มศึกษาสำหรับทุกช่วงวัย การประชุม สัมมนา อภิปราย ฝึกอบรม ทางวิทยาศาสตร์ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการแสดงสินค้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

การจัดงานในปี ๒๕๖๓ ดำเนินการภายใต้นโยบายหลัก (Concept) “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน” และมีแนวคิดหลัก (Theme) ในหัวข้อ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งประกอบด้วย ๓ เศรษฐกิจหลัก ได้แก่ Bio-Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพเพื่อมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า โดยเชื่อมโยงกับ Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการนำวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และภายใต้ Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน

ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ถือโอกาสนี้เข้าร่วมในการจัดงาน เผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้านพืช โดยมีคณาจารย์จากภาควิชาฯ ได้แก่ ผศ. ดร.อัญชีรา วิบูลย์จันทร์(หัวหน้าภาควิชาฯ), ผศ. ดร.พนิดา คงสวัสดิ์วรกุล, อ. ดร.สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล และนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของภาควิชาฯ ร่วมมือกันในการถ่ายทอดความรู้วิทยาศาสตร์ด้านพืช