หลักการและเหตุผล

ภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ ภาพวาดประกอบข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ใช้เพื่ออธิบายความรู้ในสาขาต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ เช่น ดาราศาสตร์ ธรณีวิทยา สัตววิทยา พฤกษศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการจัดทำเอกสาร ตำรา และประกอบบทความในลักษณะต่างๆ ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีด้านการถ่ายภาพจะก้าวหน้าไป แต่ภาพถ่ายก็ไม่อาจทดแทนภาพวาดได้ เพราะภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ได้จากการประมวลความรู้ กลั่นกรองข้อมูลออกมาเป็นภาพ ภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ที่ดีมีคุณค่าเทียบเท่ากับตำราในเรื่องนั้นๆ ผู้วาดต้องศึกษาตัวอย่างต้นแบบอย่างรอบด้าน สร้างสรรค์ขึ้นจากข้อมูลจริง และแสดงออกมาเป็นภาพที่ถูกต้อง แม่นยำ และสวยงาม ปัจจุบันภาพวาดทางวิทยาศาสตร์เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง และเป็นที่ต้องการ ทั้งในแวดวงวิชาการ และเพื่อสุนทรียะ

ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตระหนักถึงความสำคัญของภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ จึงได้เปิดสอนวิชานิทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Illustrations) สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อปีการศึกษา 2541 และเล็งเห็นว่ายังมีนิสิตนักศึกษา ครูอาจารย์ ข้าราชการ และประชาชนอีกหลากหลายอาชีพที่มีความสามารถและสนใจใคร่เรียนรู้วิชาสาขานี้ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ฯ จึงได้ริเริ่มจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ขึ้น ต่อเนื่องนับจากนั้นมาเป็นประจำทุกปี ซึ่งในปีนี้นับเป็นครั้งที่ 22 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักการการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ เปิดโอกาสให้ผู้เข้าอบรมเลือกตัวอย่างศึกษาที่ตนเองสนใจ เช่น ดอกไม้ แมลง สัตว์สตาฟฟ์ กระดูก ภาพดวงดาว ทั้งนี้โดยหวังให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจวิธีการนำเสนอข้อมูลให้สวยงามตามหลักศิลปะ และขณะเดียวกันก็ช่วยเปิดมุมมองด้านวิทยาศาสตร์ให้กับศิลปิน เพิ่มโอกาสในการทำงานร่วมกันในการสร้างสรรค์ภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ที่มีมาตรฐานสูงในระดับนานาชาติ

คุณสมบัติและจำนวนผู้เข้ารับการอบรม

  • คุณสมบัติ
    1. นักวิทยาศาสตร์ ครูอาจารย์
    2. นิสิตนักศึกษาและบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในสาขาวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการเรียนการสอนและการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ
    3. ศิลปิน จิตรกร ครูอาจารย์ด้านศิลปะ ที่มีความสนใจ และปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน และการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    4. ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างจากหน่วยงานภาครัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจ ที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาให้เข้ารับการอบรมโดยไม่ถือเป็นวันลา และสามารถเบิกค่าลงทะเบียนเข้ารับการอบรมได้
    5. ผู้สนใจทั่วไป
  • จำนวนผู้เข้ารับการอบรม 60 คน