เป็นที่น่ายินดีที่สถานการณ์โลกในวันนี้ กลับเข้าใกล้สภาวะปกติ ฟื้นจากการหยุดชะงักงันเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ แล้ว แต่สิ่งที่พวกเราผ่านมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย บางสิ่งพลิกผันแบบไม่หวนกลับ โดยเฉพาะเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างปัญญาประดิษฐ์ที่เพียงเขียนบรรยายด้วยคำสำคัญไม่กี่คำ ก็อาจสังเคราะห์ภาพออกมาได้อย่างใจปรารถนา อีกไม่นานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อาจสร้างภาพวาดพฤกษศาสตร์ แม่นยำครบถ้วนสมบูรณ์ ออกมาให้เราได้ภายในไม่กี่วินาที แต่ก่อนจะถึงวันนั้น เรามาชื่นชมกับฝีมือเพื่อน พี่น้องศิลปินของเรา ที่ทุ่มเทเวลายาวนานหลายวัน และอาจจะหลายเดือน ประณีตบรรจงลงดินสอ ปากกา พู่กันบนกระดาษ หลังจากร่างภาพและตรวจสอบถี่ถ้วนจากต้นแบบ ออกมาเป็นภาพวาดพฤกษศาสตร์ที่ฉายความรู้ความเข้าใจ ควบคู่กับความสวยงามละเมียดละไม
มหาวิทยาลัยมหิดล โดยภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และหน่วยงานต่าง ๆ ได้ร่วมกันจัดนิทรรศการประจำปี เพื่อแสดงภาพวาดพฤกษศาสตร์ “สานพฤกษพรรณผ่านงานพฤกษศิลป์” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ และจัดต่อเนื่องมา ยกเว้นเพียงในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ เนื่องจากสถานการณ์ไม่อำนวย นิทรรศการฯ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนองพระราชดำริ ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) สร้างความเข้าใจและทำให้ประชาชนทั่วไปเห็นคุณค่าและความสำคัญของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของพืช ผ่านการชื่นชมความสวยงามของภาพวาดพฤกษศาสตร์ และสร้างความเข้าใจอันดีและความร่วมมือระหว่างศิลปินพฤกษศาสตร์ ในปีนี้ กำหนดการจัดงานนิทรรศการระหว่างวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ถึง ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ใช้ชื่อว่า “สานพฤกษพรรณผ่านงานพฤกษศิลป์ ครั้งที่ ๕” หรือ Botanical Art Thailand 2023″ มีศิลปินภาพวาดพฤกษศาสตร์จำนวน ๔๕ ท่าน ส่งภาพวาดพรรณไม้จำนวน ๖๒ ภาพ เข้าร่วมจัดแสดงบริเวณชั้น ๓ ชั้น ๔ และชั้น ๕ ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
การจัดงานเปิดกว้างมากขึ้นสำหรับเพื่อนศิลปินชาวต่างชาติ ที่จะสามารถส่งภาพวาดเข้าร่วมจัดแสดงในข้อหลัก “พืชเขตร้อนของโลก” หรือ “Tropical Plants of the World” ทั้งนี้เพื่อเตรียมการสำหรับการจัดนิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์พร้อมกับทั่วโลกอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๖๘ คณะกรรมการฯ คาดหวังว่านิทรรศการ “สานพฤกษพรรณผ่านงานพฤกษศิลป์” จะเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินไทย โดยเฉพาะเยาวชน สร้างผลงานภาพวาดพฤกษศาสตร์ให้มีคุณภาพมาตรฐานสูงยิ่งขึ้น เป็นสายใยยึดโยงความเข้าใจอันดีระหว่างศิลปินพฤกษศาสตร์และประชาชน ก่อให้เกิดความตระหนัก และความร่วมมือในการอนุรักษ์ความหลากหลายของพืชพรรณที่งดงามให้อนุชนรุ่นหลังต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล โฉมเฉลา แสวงผล
ประธานคณะกรรมการจัดงาน
สานพฤกษพรรณผ่านงานพฤกษศิลป์ครั้งที่ ๕
ผู้ให้การสนับสนุน