นักวิจัยจากเกษตรและมหิดล ร่วมกันรายงานการค้นพบโปรตีน PR-10 ในยางพาราที่เกี่ยวข้องกับกลไกการป้องกันตัวเอง คาดว่าสามารถพัฒนาเป็นวิธีการที่จะช่วยทำให้ต้นยางพาราแข็งแกร่งต้านทานโรคแมลงได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

โปรตีนกลุ่ม Pathogenesis_related_10 หรือ PR10 เป็นโปรตีนขนาดเล็กที่มีความสัมพันธ์กับกลไกการป้องกันตัวเองของพืช งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยแรกที่ศึกษารวบรวมโปรตีนในกลุ่ม PR-10 ของต้นยางพารา ซึ่งเป็นเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก และกำลังประสบปัญหาโรคพืช ส่งผลกระทบต่อผลผลิตน้ำยางธรรมชาติ จากการเปรียบเทียบลำดับกรดอะมิโนของโปรตีนพืชกลุ่ม PR-10 ในฐานข้อมูลต้นแบบกับข้อมูลจาก 2 จีโนมล่าสุดของยางพาราในฐานข้อมูล NCBI ปี 2023 ทำให้สามารถรวบรวมและรายงานโปรตีนในกลุ่ม PR-10 ซึ่งพบมากกว่า 100 โปรตีน ทำการระบุตำแหน่งของยีน PR-10 ในยางพาราที่ระดับโครโมโซม การจัดกลุ่มโปรตีน PR-10 ทั้งหมดตามความสัมพันธ์ของลำดับกรดอะมิโน ลำดับชิ้นส่วนกรดอะมิโนอนุรักษ์ และโครงสร้างสามมิติ พบว่า โปรตีนสองกลุ่มย่อยหลักคือ Pru ar 1 major allergens และ Major latex proteins ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มที่เคยมีรายงานในพืชอื่นว่ามีความเกี่ยวข้องกับกลไกการป้องกันตัวเองของพืชต่อเชื้อก่อโรคและความเครียดต่างๆ จากการรวบรวมข้อมูลการแสดงออกที่ระดับยีนของ PR-10 ที่มีรายงานในต้นยางพารา แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อเชื้อก่อโรค ทั้งนี้ พบโปรตีนจำนวนมากในกลุ่ม Uncharacterized protein/Hypothetical protein ถูกจัดเป็นกลุ่มย่อยของโปรตีน PR-10 ด้วย ผลงานวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาการทำงานของโปรตีนกลุ่ม PR-10 ในต้นยางพารา ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับกลไกการป้องกันตัวเอง และกลไกอื่นๆที่สามารถทำให้ต้นยางพารามีลักษณะที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักปรับปรุงพันธุ์ได้ในอนาคต

นักวิจัยที่ตีพิมพ์ผลงานชิ้นนี้คือ ดร.รวิชย์ หลงสวาสดิ์ อาจารย์ ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศิษย์เก่าภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัญชีรา วิบูลย์จันทร์ อาจารย์ที่ปรึกษา และหัวหน้าภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านงานวิจัยชิ้นนี้ ได้ที่ วารสาร #Scientific_Reports ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567
Full article