ที่มา: https://www.facebook.com/PlantScienceMUSC/posts/3427452047292305


นักวิจัยไทยพิสูจน์พบ ‘บัวหิน’ เป็นไม้หัวชนิดใหม่ของโลก.ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผศ.ดร.ทยา เจนจิตติกุล และ ดร.สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการตีพิมพ์พืชสกุลสบู่เลือด (Stephania) หรือที่เหล่านักสะสมต้นไม้รู้จักกันก็คือ กลุ่มของบัวบกโขดและบอระเพ็ดพุงช้าง ในวารสาร Phytotaxa 464 (3) โดยพืชชนิดใหม่นี้มีชื่อว่า บัวหิน (Stephania Kaweesakii Jenjitt. & Ruchis.) หรือที่รู้จักกันในชื่ออื่นๆ คือ บัวผา บัวเงิน (Stephania nova) พืชชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันในท้องตลาดของนักสะสมไม้โขดมากว่า 10 ปี โดยไม่มีการระบุชื่อวิทยาศาสตร์ และเป็นที่สงสัยกันว่าน่าจะเป็นพืชชนิดใหม่

จากการตรวจสอบโดยละเอียด เทียบกับข้อมูลของพืชสกุลนี้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ จึงทำให้ทีมนักวิจัยสามารถยืนยันได้ว่า ‘Stephania Kaweesakii Jenjitt. & Ruchis.’ นี้เป็นพืชชนิดใหม่จริงๆ โดยชื่อ ‘Kaweesakii’ นั้นตั้งให้เป็นเกียรติแก่ กวีศักดิ์ กีรติเกียรติ ผู้เก็บพรรณไม้ต้นแบบ

พืชสกุล Stephania นี้ ทั่วโลกมีอยู่ 69 ชนิด ในประเทศไทยเคยมีรายงานอยู่ 15 ชนิด Stephania Kaweesakii Jenjitt. & Ruchis. จึงเป็นชนิดที่ 16 ของไทย โดยมีชื่อเรียกต่างๆ กันคือ บัวหิน บัวผา บัวเงิน แล้วแต่ความนิยม ซึ่งพืชชนิดนี้มีความคล้ายกับไม้สะสมที่รู้จักกันเป็นอย่างดีอยู่แล้วคือ บัวบกโขด และบอระเพ็ดพุงช้าง ตรงที่หัวของมันมีเปลือกที่แตกเป็นแผ่นหนา ไม่ใช่เปลือกเรียบหรือเปลือกแตกร่อง มีรูปทรงของหัวที่หลากหลาย และมีองค์ประกอบของดอกที่แตกต่างกัน ใบของบัวหินมีความหลากหลายทั้งสีและขนาด ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมที่ได้มาและการปลูกเลี้ยง โดยในธรรมชาติ พืชชนิดนี้จะฝังตัวอยู่ในซอกหินในพื้นที่เขาหินปูน.การค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าภาคตะวันตกของไทยและพื้นที่เขาหินปูนทั่วประเทศ ที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ​ การอนุรักษ์พื้นป่าโดยเฉพาะพื้นที่เขาหินปูน

จึงมีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพของไทยและของโลก นอกจากนี้ การที่มีชื่อวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ ยังทำให้เราสามารถจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านอื่น เพื่อวางแผนการจัดการพืชชนิดนี้ ทั้งในด้านการอนุรักษ์ในพื้นที่ การอนุรักษ์นอกพื้นที่ และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันพืชชนิดนี้มีการเก็บจากธรรมชาติมาขายเป็นจำนวนมาก ซึ่งการเก็บในปริมาณที่เหมาะสม และหลงเหลือต้นพันธุ์ไว้ในธรรมชาติในปริมาณที่เพียงพอ จะทำให้ต้นมาสามารถสืบพันธุ์ต่อไปได้ และมนุษย์สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ การศึกษาวิธีการขยายพันธุ์ก็มีความจำเป็นในการใช้ประโยชน์ระยะยาว

อ้างอิง:
Jenjittikul T, Ruchisansakun S. 2020. Stephania kaweesakii (Menispermaceae), a new tuberous species from Thailand. Phytotaxa 464 (3): 257-260

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่
https://thestandard.co/#บัวหิน#TheStandardNews