Exploring the effects of seasons, diurnal cycle, and heights on airborne pollen load in a Southeast Asian atmospheric condition

Journal: Frontiers in Public Health
Published: 14 December 2022
Citation: Juprasong Y, Sirirakphaisarn S, Siriwattanakul U and Songnuan W. (2022). Exploring the effects of seasons, diurnal cycle, and heights on airborne pollen load in a Southeast Asian atmospheric condition. Front. Public Health 10:1067034. doi: 10.3389/fpubh.2022.1067034
Article link: https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fpubh.2022.1067034/full

โยธิน จูประสงค์1,2,3  ศิรินทร์ ศิริรักษ์ไพศาล3  อุมาพร ศิริวัฒนกุล3  และวิษุวัต สงนวล2,3,4
1 หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตพิษวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพมหานคร
2 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรุงเทพมหานคร
3 หน่วยวิจัยชีววิทยาเชิงระบบของโรค คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพมหานคร
4 ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพมหานคร

บทคัดย่อ
เรณูถือเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญในอากาศ การตรวจวัดปริมาณและความหลากหลายของเรณูจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ อย่างไรก็ตามจากการศึกษาก่อนหน้าพบว่า ปัจจัยด้านภูมิประเทศและสภาพอากาศส่งผลต่อปริมาณและความหลากหลายของเรณูในพื้นที่นั้นๆ วัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัยในครั้งนี้คือ เพื่อศึกษาพลวัตของปริมาณและความหลากหลายของเรณูในอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้ปัจจัยเรื่องความแตกต่างของฤดูกาล ช่วงเวลาในแต่ละวัน และระดับความสูงจากระดับพื้นดิน โดยให้พื้นที่ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่สำหรับการศึกษา คณะผู้วิจัยใช้เครื่อง RotoRod Sampler สำหรับเก็บตัวอย่างเรณูในอากาศเป็นระยะเวลา 12 เดือน โดยในการศึกษาปัจจัยเรื่องช่วงเวลาในแต่ละวัน ผู้วิจัยเก็บตัวอย่างเรณู ณ เวลา 7.00 น. 10.00 น. 13.00 น. 16.00 น. และ 19.00 น. สำหรับการศึกษาผลของระดับความสูงต่อความหลากหลายและปริมาณของเรณูในอากาศ ผู้วิจัยได้เก็บตัวอย่างเรณูที่ความสูง 2 เมตร 10 เมตร และ 18 เมตร จากระดับพื้นดิน การศึกษาครั้งนี้ ถือเป็นการศึกษาแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รายงานผลกระทบของปัจจัยด้านเวลาของวัน และระดับความสูงจากระดับพื้นดินต่อความหลากหลายและปริมาณของเรณูที่พบในอากาศ ผลการศึกษาพบว่า ในเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นช่วงมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ฤดูหนาว) พบปริมาณเรณูสูงที่สุด ในขณะที่เดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน พบปริมาณเรณูต่ำที่สุด กลุ่มพืชที่จัดเป็นกลุ่มพืชหลักที่ปล่อยเรณูตลอดทั้งปี คือ เรณูของพืชวงศ์หญ้า (Poaceae) โดยช่วงเวลาที่พบปริมาณเรณูมากที่สุดคือ เวลา 13.00-14.00 น. และพบปริมาณเรณูสูงสุดที่ระดับความสูง 10 เมตรจากระดับพื้นดิน ซึ่งเป็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า เรณูที่พบในพื้นที่ที่มีระดับความสูงเหนือจากพื้นดินมากขึ้น เช่น ที่ระดับ 10 เมตรนั้น มีปริมาณ (>130 grains/m3) สูงกว่าการศึกษาอื่นๆ ทั้งในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ซึ่งการศึกษาก่อนหน้าอื่นๆ นั้น มักจะพบเรณูในปริมาณสูงที่ระดับ 1-2 เมตรเหนือพื้นดิน ผลการศึกษาครั้งนี้จึงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ในพื้นที่ที่มีระดับสูงมากขึ้นจากระดับพื้นดิน จะพบปริมาณเรณูในอากาศทั้งกลุ่มพืชวงศ์หญ้าและวงศ์อื่นๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังได้รายงานความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณเรณูที่พบในอากาศและปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาอีกด้วย

คำสำคัญ: pollen allergy, airborne pollen, pollen dynamics, meteorological factors, tropical/subtropical plants