ข้อมูลภาควิชา

ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งขึ้นตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๑๐๙ ตอนที่ ๙๘ ลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๓๕ โดยมีหัวหน้าภาควิชาจนถึงปัจจุบันรวม ๔ ท่าน คือ

1. รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร นิตยางกูร ดำรงตำแหน่งระหว่างปี ๒๕๓๕-๒๕๔๐


2. ศาตราจารย์ ดร.ครรชิต ธรรมศิริ ดำรงตำแหน่งระหว่างปี ๒๕๔๐-๒๕๔๘ และ พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๕๖


3. รองศาสตราจารย์ ดร.พวงผกา สุนทรชัยนาคแสง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๘-๒๕๕๒ และ พ.ศ. ๒๕๕๖-๒๕๖๓


4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์. ดร.อัญชีรา วิบูลย์จันทร์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๓ จนถึงปัจจุบัน


ขณะนี้มีบุคลากร ๑๗ คน ได้แก่

  • สายวิชาการ ๑๓ คน ประกอบด้วย อาจารย์เกษียณ ๑ คน | อาจารย์ประจำ ๑๒ คน
  • บุคลากรสายสนับสนุนมี ๔ คน ประกอบด้วย นักวิทยาศาสตร์ ๒ คน | เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ๒ คน
  • นักศึกษาประกอบด้วยนักศึกษา ระดับปริญญาตรี ๖๕ คน | ระดับปริญญาโท ๑๕ คน | ปริญญาเอก ๑๙ คน
    ปัจจุบันภาควิชาฯ ได้ผลิต
    – บัณฑิตออกไปแล้ว ๒๗ รุ่นรวมทั้งหมด ๒๖๒ คน
    – มหาบัณฑิตออกไปแล้ว ๑๖ รุ่น รวม ๑๐๙ คน
    – ดุษฎีบัณฑิตออกไปแล้ว ๓ รุ่น รวม ๓ คน
    บัณฑิตที่จบการศึกษาแล้วส่วนใหญ่เข้าศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาทั้งภายในประเทศ และได้รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ เช่น ทุนพัฒนาอาจารย์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทุน ก.พ. และ ทุน สกอ. อีกส่วนหนึ่งประกอบอาชีพ เช่น ผู้ผลิตและส่งออกผักและผลไม้ และทำงานในหน่วยงานต่างๆ เช่น สวทช. โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา กรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัย โรงเรียน และองค์กรธุรกิจเอกชน

ภาควิชาฯ มีการปรับปรุงหลักสูตรปริญญาตรีโดยเพิ่มหลักสูตรพิสิฐวิธานสำหรับนักศึกษาที่มีผลการเรียนดี เกรดเฉลี่ยตั้งแต่ ๓.๒๕ ขึ้นไปให้เริ่มทำวิจัยตั้งแต่ชั้นปีที่ ๓ และทำงานวิจัยในสถาบันต่างประเทศที่มีความร่วมมือกัน นอกจากนี้ยังสามารถทำงานวิจัยต่อเนื่องไปถึงระดับบัณฑิตศึกษาได้

ภาควิชาพฤกษศาสตร์จัดตั้งขึ้นภาควิชามีการพัฒนาหลักสูตรบัณฑิตศึกษาให้สมบูรณ์เพื่อรองรับนักศึกษาที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี และขยายการเรียนการสอนและการวิจัยทางพืชให้กว้างขวางออกไปปรับปรุงวิธีการและเนื้อหาการเรียนการสอนให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เชิญอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากทั้งภายในและภายนอกสถาบัน รวมทั้งอาจารย์จากต่างประเทศมาร่วมสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติการจริง นำนักศึกษาเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการและออกภาคสนาม จัดหาสถานที่ฝึกงานที่สอดคล้องกับความสนใจของนักศึกษา จัดหาอุปกรณ์และสร้างสื่อทั้งที่เป็นมัลติมีเดียและหนังสือประกอบให้ทันสมัย

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเพิ่มเติม เช่น จัดการประชุมวิชาการด้านพืชของนักศึกษาปริญญาตรีและให้นักศึกษาเข้าร่วมการประชุมวิชาการพฤกษศาสตร์แห่งประเทศไทยเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นเวทีให้นักศึกษาที่ทำงานวิจัยด้านพืชได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำเสนอความก้าวหน้าของงานวิจัย และเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีทั้งระหว่างนักศึกษาปริญญาตรี นักศึกษาบัณฑิต และคณาจารย์จากหลากหลายภาควิชาและสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนการสอนและการวิจัยไปพร้อมกัน นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ทั้งในและนอกสถาบัน

ภาควิชาฯ สนับสนุนการวิจัยในทุกด้าน อาจารย์ทุกคนได้รับการสนับสนุนการทำงานวิจัยแบบบูรณการร่วมกับนักวิจัยทั้งในและนอกสถาบันเช่น โครงการวิจัยและพัฒนาว่านชักมดลูกเพื่อสุขภาพ ร่วมกับภาควิชาสรีรวิทยา ชีวเคมี เภสัชวิทยา และพยาธิวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ และภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิตไม้ผลเขตหนาวของประเทศไทยร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันการศึกษาอื่นๆ โครงการวิจัยเกี่ยวกับยางพาราร่วมกับ Institute of Research for Development (IRD) Université Montpellier II ประเทศฝรั่งเศส และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้ Franco-Thai Project โครงการวิจัยเกี่ยวกับกลไกการสร้างแป้งในมันสำปะหลังร่วมกับภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ โครงการ Genetic Marker of Fusarium Resistance for Apple Improvement และโครงการวิจัยกล้วยร่วมกับ ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และ Institute of Experimental Botany แห่งสาธารณรัฐเชค โครงการนานาชาติเรื่องการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์กล้วยไม้เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนร่วมกับสวนพฤกษศาสตร์คิวประเทศอังกฤษและประเทศอื่นๆ อีก ๑๖ ประเทศ ทั้งนี้ภาควิชาฯ ยังเข้าร่วมโครงการสำรวจและจัดทำระบบฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพผสมผสาน กรณีศึกษาพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืช เขื่อนศรีนครินทร์ซึ่งเป็นโครงการ ที่ร่วมกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)