ที่มา: click
นักพฤกษศาสตร์พบศิลปิน เดอะซีรีส์ ep. 2 การบรรยาย “#มรดกพืชพรรณและธัญญาหารของชาวสุวรรณภูมิ” มีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟัง 22 ท่าน รวมทั้ง “คุณสตังค์” จากรายการ #ภัตตาคารบ้านทุ่ง ที่ให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ ไม่ต่างจากผู้เข้าอบรมท่านอื่นที่กระตือรือร้นซักถามผู้บรรยายตลอดเวลาการอบรม
การบรรยายครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อนำศิลปินทำความรู้จักกับพืชที่ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นำมาใช้ประโยชน์มาตั้งแต่โบราณ เพื่อช่วยในการเลือกพืชที่เหมาะสมมาวาดเพื่อเข้าร่วมจัดแสดงในนิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์ “#สานพฤกษพรรณผ่านงานพฤกษศิลป์” ที่จะจัดขึ้นอีกครั้งเป็นครั้งที่ 6 ในปีหน้า และเตรียมการล่วงหน้าสำหรับนิทรรศการ #Botanical_Art_Worldwide_2025
การบรรยายครั้งนี้มีนักพฤกษศาสตร์เป็นวิทยากร 5 ท่าน เริ่มด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล แสวงผล บรรยายภาพรวมของพืชที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ ขอบเขตพื้นที่สุวรรณภูมิ และกติกาการส่งภาพเข้าร่วมจัดแสดงในนิทรรศการปี 2024 เรื่อง “พืชสมุนไพร” และ ปี 2025 เรื่องมรดกพืชพรรณของชาวสุวรรณภูมิ Suvarnabhumi_Heritage_Crops จากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทยาเจนจิตติกุล เล่าเรื่องผักพื้นบ้าน และผักในตำราอาหารโบราณ เช่น แม่ครัวหัวป่าก์ ที่อาจารย์ใช้เวลาเก็บรวบรวมข้อมูลมาเกือบ 10 ปี และอวดผลงานของศิลปิน สุนิตสรณ์ พิมพะสาลี ที่จะประกอบการตีพิมพ์เมื่อมีโอกาส ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ ชวนดูผลไม้และธัญญาหารที่พบหลักฐานว่ามีการนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่โบราณ
หลังอาหารกลางวันที่จัดเต็มด้วยข้าวน้ำพริกปลาทูและผักพื้นบ้านนานาชนิด เป็นการบรรยายของ ดร.สุนิสา แสงวิโรจนพัฒน์ เรื่อง อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล แหล่งความรู้เรื่องพืชสมุนไพร ที่เราสามารถเข้าไปสำรวจและเก็บข้อมูลความรู้ แถมด้วยการเล่าเรื่องพืชสมุนไพรที่น่าสนใจน่าวาดอีกหลายชนิด ปิดท้ายด้วยการบรรยายของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล เล่าเรื่องลักษณะของส่วนต่าง ๆ ของพืชที่ศิลปินควรสังเกต เช่น หูใบ ใบประดับ ลำดับการบานของดอกในช่อดอกแบบต่างๆ
การพบปะระหว่างนักพฤกษศาสตร์และศิลปินในครั้งนี้ น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินในการเสาะหาตัวอย่างที่น่าสนใจ และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้ภาพวาดถูกต้อง และสมบูรณ์ ในขณะเดียวกันก็ทำให้นักพฤกษศาสตร์รับทราบถึงคุณค่าของข้อมูลความรู้ที่ควรเผยแพร่ให่กับประชาชน เรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมที่เปิดโลกทัศน์ของผู้เข้าร่วมงานได้เป็นอย่างดี การบรรยายครั้งนี้ จัดขึ้นในบรรยากาศแบบสบาย ๆ ที่ห้อง C111 อาคารเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท
สนับสนุนโดย โครงการ #ทรัพยากรพืชพรรณธัญญาหารของชาวสุวรรณภูมิ#สถาบันธัชชา ร่วมกับ
รายวิชา SCPL502 #พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน#ภาควิชาพฤกษศาสตร์#คณะวิทยาศาสตร์#มหาวิทยาลัยมหิดล และ #เครือข่ายวิทย์สานศิลป์